ประวัติพระธาตุขามแก่น - webpra

ประวัติพระธาตุขามแก่น

บทความพระเครื่อง เขียนโดย อลงกรณ์107

อลงกรณ์107
ผู้เขียน
บทความ : ประวัติพระธาตุขามแก่น
จำนวนชม : 4162
เขียนเมื่อวันที่ : ศ. - 06 พ.ค. 2554 - 21:02.01
(คลิ๊กที่ชื่อผู้เขียนผู้ดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับผู้เขียน)
     
         พระธาตุขามแก่น เป็นเจดีย์ที่สำคัญและเก่าแก่ที่สุดองค์หนึ่งในประวัติศาสตร์ องค์พระธาตุขามแก่น ประดิษฐานอยู่ที่วัดเจติยภูมิ อำเภอน้ำพอง ห่างจากตัวจังหวัดขอนแก่นไปตามถนนขอนแก่น - ยางตลาด เลี้ยวซ้ายบริเวณบ้านพรหมนิมิตร อำเภอเมืองขอนแก่น ประมาณ 15 กิโลเมตร เป็นเจดีย์ที่สำคัญที่รู้จักกันดีแห่งหนึ่งในภาคอีสาน เป็นจุดยึดเหนี่ยวทางจิตใจ และเป็นปูชนียสถานศักดิ์สิทธิ์คู่อีสานอีกแห่งหนึ่ง นอกเหนือจากพระธาตุพนม จังหวัดนครพนม และพระธาตุเชิงชุม จังหวัดสกลนคร ไม่ปรากฏอายุการสร้างที่แน่นอน
        พระธาตุขามแก่น มีประวัติความเป็นมาเป็นเรื่องเล่าสืบขานกันมาช้านาน ว่าภายหลังจากที่องค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เสด็จดับขันธ์ปรินิพานในวันอังคาร ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีมะเส็ง ที่กรุงกุสินารา เมื่อพระองค์ดับขันธ์ปรินิพพานแล้ว พระมหาปัสสปเถระเจ้า พร้อมด้วยราชบริพาร ได้มานมัสการถวายพระเพลิง เมื่อถวายพระเพลิงแล้วก็ประกาศให้กษัตริย์ในชนบทต่างๆมารับแจกพระสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า กษัตริย์นครต่างๆ เมื่อได้รับแจกแล้วก็นำไปประดิษฐานไว้ในเมืองของตน เว้นแต่นครที่อยู่ในปัจจันตประเทศ (ประเทศที่อยู่ห่างไกลมัชฌิมประเทศ) จึงมิได้รับแจก
        ครั้งต่อมา โฆริยกษัตริย์ เจ้าผู้ครองเมืองโฆรีย์ ที่อยู่ในปัจจันตประเทศ อยู่ห่างไกลกรุงกุสินาราซึ่งได้นามเมืองว่าเมืองกัมพูชา (เขมรเดี๋ยวนี้) รับทราบข่าวมารับแจกพระสารีริกธาตุ (กระดูก)ไม่ทัน เพราะมีการแจกไปหมดแล้ว เหลือแต่พระอังคาร (เถ้าถ่านที่เผาศพ) จึงได้แต่พระอังคาร กษัตริย์โฆริยะจึงนำพระอังคารบรรจุไว้ในกระอูบทอง เพื่อจะนำกลับนครโฆรีย์ ไปสักการะบูชา
        ครั้นกาลเวลาล่วงเลยไป 3 ปี พระมหากัสสปเถระเจ้า ประสงค์ที่จะนำเอาพระอุรังคะธาตุของพระพุทธเจ้าไปประดิษฐานไว้ในภูกำพร้า (คือ พระธาตุพนมปัจจุบันี้) จึงได้จัดการก่อสร้างพระธาตุพนมขึ้น
       เมื่อกษัตริย์โฆริยะพร้อมด้วยพระอรหันต์ในเมืองโฆรีย์ทราบข่าว จึงมีศรัทธาที่จะนำพระอังคารของพระพุทธเจ้าที่ได้รับมา ไปบรรจุไว้ในพระธาตุพนมร่วมกับพระอุรังคะของพระพุทธเจ้า จึงได้อัญเชิญพระอังคารของพระพุทธเจ้ามุ่งหน้าไปพระธาตุพนม พร้อมด้วยพระอรหันต์ทั้ง 9 องค์ และยังมีพระยาหลังเขียว เจ้านครพร้อมด้วยราชบริพารอีก 90 คน ออกเดินทางไปยังภูกำพร้าสถานที่ประดิษฐานพระธาตุพนม
        การเดินทางได้พากันมุ่งหน้ามาทางทิศเหนือ แต่พอมาถึงดอนมะขามแห่งหนึ่ง (ที่ตั้งพระธาตุขามแก่นปัจจุบัน) เป็นเวลาค่ำพอดี ประกอบกับภูมิประเทศที่ราบเรียบ มีห้วยสามแยก น้ำไหลผ่านรอบๆดอน ภายในบริเวณนั้นมีต้นมะขามใหญ่ต้นหนึ่งตายล้มลงแล้ว เปลือกกะพี้กิ่งก้านสาขาไม่มี เหลือแต่แก่นข้างในเท่านั้น จึงได้ใช้เป็นที่เก็บรองรับพระอังคารของพระพุทธเจ้า
         ครั้นรุ่งเช้าก็ออกเดินทางต่อ แต่เมื่อไปถึงปรากฎว่าการก่อสร้างพระธาตุพนมได้เสร็จเรียบร้อยแล้วจะเอาอะไรเข้าบรรจุอีกไม่ได้ คณะจึงได้แต่เพียงพากันนมัสการพระธาตุพนม แล้วเดินทางกลับถิ่นเดิม แต่เมื่อเดินทางมาถึงดอนมะขาม ที่เคยพักแรมเดิม (ที่ตั้งองค์พระธาตุขามแก่นปัจจุบัน) เห็นต้นมะขามที่ตายล้มแล้วนั้น กลับลุกขึ้นผลิดอกออกผล แตกกิ่งก้าน สาขา มีใบเขียวชะอุ่มแลดูงามตายิ่งนัก จะเป็นด้วยนิมิตหรืออำนาจอภินิหารของพระอังคารพระพุทธเจ้าก็มิทราบได้ คณะพระอรหันต์ทั้ง 9 องค์และพระยาหลังเขียว จึงได้ตกลงเห็นดีในการก่อสร้างพระธาตุครอบต้นมะขาม บรรจุพระอังคารของพระพุทธเจ้าไว้พร้อมด้วยเงินทอง แก้วแหวนแสนสารพัดนึก โดยทำเป็นพระพุทธรูปแทนพระองค์ เข้าบรรจุไว้ในพระธาตุนี้ เมื่อการก่อสร้างเสร็จ พระยาหลังเขียวก็จัดการสร้างบ้านสร้างเมืองขึ้น บริเวณใกล้ๆกับพระธาตุนั้น มีกำแพงทั้ง 4 ทิศ ( ซึ่งซากศิลากำแพงที่หักพังยังมีหลักฐานอยู่ห่างจากองค์พระธาตุประมาณ 25 เส้น ) ส่วนพระอรหันต์ทั้ง 9 องค์ ก็จัดการสร้างวัดวาอารามขึ้น คือ วิหารและพัทธสีมา เคียงคู่กับพระธาตุ    เหตุการณ์เป็นดังนี้ จึงปรากฎนาม "พระธาตุขามแก่น" และเมื่อกาลเวลาล่วงเลยมา พระอรหันต์ทั้ง 9 องค์ ได้ดับขันธ์ปรินิพพานในสถานที่นี้ทุกองค์ สรีระธาตุของท่านทั้ง 9 ก็ได้บรรจุไว้ในพระธาตุองค์เล็ก ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของพระธาตุใหญ่  ด้วยเหตุนี้ประชาชนจึงนิยมเรียกพระนามพระธาตุบ้านขามว่า "ครูบา ทั้ง 9 เจ้ามหาธาตุ" จนถึงปัจจุบัน

 

    ประวัติพระธาตุขามแก่น

 
ประวัติพระธาตุขามแก่น
Top