( วัตถุมงคลปี.2526 ) ลป.ดุลย์ อตุโล ช่วงอาพาธหนักครั้งที่สอง ในปีพศ.๒๕๒๖ เข้าพักรักษาตัวที่รพ.จุฬา - webpra

( วัตถุมงคลปี.2526 ) ลป.ดุลย์ อตุโล ช่วงอาพาธหนักครั้งที่สอง ในปีพศ.๒๕๒๖ เข้าพักรักษาตัวที่รพ.จุฬา

บทความพระเครื่อง เขียนโดย question

question
ผู้เขียน
บทความ : ( วัตถุมงคลปี.2526 ) ลป.ดุลย์ อตุโล ช่วงอาพาธหนักครั้งที่สอง ในปีพศ.๒๕๒๖ เข้าพักรักษาตัวที่รพ.จุฬา
จำนวนชม : 32626
เขียนเมื่อวันที่ : พ. - 16 มิ.ย. 2553 - 15:53.38
แก้ไขล่าสุดเมื่อวันที่ : อา. - 16 ต.ค. 2554 - 22:13.25
(คลิ๊กที่ชื่อผู้เขียนผู้ดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับผู้เขียน)

๑๐๕. อาพาธหนักครั้งที่สอง 

           หลังจากที่หลวงปู่เคยเข้ารักษาอาพาธในโรงพยาบาครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๘ หลังจากนั้นอีก ๑๘ ปี เมื่อท่านเจริญขันธ์มาจนถึง ๙๕ ปี ท่านจึงมีอาการผิดปกติด้านสุขภาพอีกครั้งหนึ่ง 

            เมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๖ หลวงปู่เริ่มมีอาการปวดชาตั้งแต่บั้นเอวลงไปถึงปลายเท้า เริ่มเป็นด้านซ้ายข้างเดียวก่อน ความจริงเคยเป็นเล็กน้อยมานานแล้ว เคยนวดถวายท่านก็สังเกตเห็นได้ว่า ชีพจรเดินเบามาก ต่อมาอาการอย่างนี้ก็ลามมาที่ขาข้างขวา ท่านบอกว่ารู้สึกเหมือนจะปวดหนักปวดเบาอยู่ตลอดเวลา พาไปเข้าห้องน้ำก็ถ่ายไม่ออกทั้งหนักและเบาแถมยังมีอาการเดี๋ยวหยาวเดี๋ยวระคนกัน

            จะให้คนไปตามหมอ ท่านก็ห้ามบอกว่า  ไม่จำเป็น ความจริงท่านไม่เคยเรียกหาหมอหรือใช้ให้ใครตามหมอ ตลอดจนไม่เคยบอกให้ใครพาไปโรงพยาบาล เท่าที่เคยมีหมอมารักษาพยาบาล หรือเคยเข้าไปรักษาในโรงพยาบาลนั้นล้วนเป็นเรื่องของลูกศิษย์ลูกหาเป็นห่วงและขอร้องท่านทั้งสิ้น

            ในคืนนั้น ถ้าไม่สังเกตให้ลึกจะไม่รู้เลยว่าท่านอาพาธอย่างรุนแรง ใบหน้าและผิวพรรณดูเป็นปกติ สงบเย็น ไม่มีความวิตกกังวล เหมือนท่านไม่ได้เป็นอะไรเลย

            ผู้รักษาดูแลท่านอย่างใกล้ชิดมาตลอดจะรู้สึกว่าหลวงปู่มีอาการอ่อนเพลียมากในคืนนั้น และแสดงว่าอ่อนเพลียมากขึ้นทุกที จึงต้องตัดสินใจพาท่านไปเข้ารักษาที่โรงพยาบาลสุรินทร์เมื่อเวลาประมาณ ๐๔.๐๐ น.

            ตั้งแต่ไปถึง จนถึง ๐๘.๐๐ น. ของเช้ามืดวันที่ ๒๘ มกราคม หมอได้ให้น้ำเกลือและสวนปัสสาวะออก แต่อาการของหลวงปู่ยังไม่ดีขึ้น ถึงกระนั้นท่านก็รบเร้าขอให้พาออกจากโรงพยาบาล ไม่มีใครกล้าทัดทาน จึงต้องนำท่านกลับวัดเมื่อเวลา ๑๕.๔๐ น. วันเดียวกัน

            เมื่อกลับถึงวัดคณะศิษย์ได้ปรึกษาหารือ กันและตกลงจะนำหลวงปู่เข้ากรุงเทพฯ ครั้งแรกจะไปรักษาที่โรงพยาบาลธนบุรี ตั้งใจจะออกเดินทางเข้าวันที่ ๒๙ มกราคม เวลา ๐๙.๐๐ น.

            ตลอดคืนที่ผ่านมา สังเกตดูอาการป่วยของหลวงปู่หนักขึ้น ทั้งอาการก็หนาวจัดอีกด้วยตอนเช้าถวายอาหารท่าน ท่านก็ฉันได้เพียงเล็กน้อย

            เมื่อใกล้จะถึงเวลาออกเดินทาง ท่านพระครูนันทปัญญาภรณ์กำลังยืนดูแลความเรียบร้อยอยู่นอกกุฎิหลวงปู่ มีพระภิกษุบางท่านเข้ามาคัดค้านแสดงความไม่เห็นด้วยที่จะนำหลวงปู่เข้ากรุงเทพฯโดยเหตุว่า เท่าที่ท่านแสดงความเห็นมานี้นับว่าเป็นการถูกต้องแล้ว ในฐานะที่เป็นศิษย์ย่อมมีสิทธิ์เต็มที่ที่จะคัดค้านได้ แต่ผมเห็นว่า ถ้าไม่ไปก็มีทางเดียว คือหลวงปู่หมดลงแน่ แต่ถ้าไปยังมีสองทางเพราะฉะนั้นต้องไป

            และก่อนออกเดินทางนั้นเอง  คุณหมอทวีสิน  ส่งข่าวให้ทราบว่าได้ติดต่อประสานงานที่โรงพยาบาลจุฬาฯให้แล้ว จึงขอเปลี่ยนจากโรงพยาบาลธนบุรีไปเป็นโรงพยาบาลจุฬาฯ แทน

            ตั้งแต่รถพยาบาลเคลื่อนออกจากวัด หลวงปู่นอนสงบนิ่งตลอด จนกระทั่งถึงอำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ เวลา ๑๑.๐๐ น. จึงหยุดรถเพื่อถวายเพลหลวงปู่ โดยไปจอดหน้าร้านอาหารแห่งหนึ่ง เจ้าของร้านตื่นเต้นดีใจมาก เพราะหวงปู่เคยมาทำพิธีเปิดร้านให้ เป็นการแวะมาจอดโดยบังเอิญ เขาจัดแจงถวายอาหารเป็นอย่างดี แต่หลวงปู่ฉันข้าวต้มได้เพียงเล็กน้อย

            ระยะทางจากสุรินทร์ถึงกรุเทพฯ รถวิ่งตามปกติใช้เวลา ๖-๗ ชั่วโมงแต่วันนั้นขอไม่ให้วิ่งเร็วเพราะเกรงหลวงปู่จะกระเทือน จึงใช้เวลาถึง ๙ ชั่งโมง ตลอดระยะการเดินทางหลวงปู่นอนสงบเงียบ ไม่มีเหตุอะไรให้น่าวิตกตลอดการเดินทาง

ถึงโรงพยาบาลจุฬาฯ เวลา ๑๗.๔๐ น. ต้องพาหลวงปู่เข้ารักษาที่ตึกฉุกเฉิน เนื่องจากเป็นวันเสาร์และนอกเวลาราชการ ในตอนนี้ลูกศิษย์ลูกหาต่างทุกข์กังวล ที่เห็นอาการของหลวงปู่หนักมาก แถมยังลำบากต้องเดินทางไกลและยังต้องรอเวลาให้หมอตรวจเป็นเวลานานหมอสอบถามข้อมูลหลายอย่างและฉายเอ็กซเรย์ด้วย เสร็จเรียบร้อยแล้วจึงได้พาหลวงปู่เข้าพักที่ห้องพักพิเศษตึกวชิราวุธ ชั้น ๒ หมายเลขห้อง ๒๒

๑๐๖. ความโกลาหล 

            เพราะเหตุที่มาถึงโรงพยาบาลนอกเวลาราชการ หลวงปู่จึงต้องเข้าตึกคนไข้ฉุกเฉินเสียก่อน ไม่ใช่ห้อง ไอ.ซี.ยู. ตามที่บางท่านเข้าใจ

            หลวงปู่เข้าพักได้ประมาณ ๒ ชั่วโมงกว่า คุณหมอจรัส กับคณะ ก็มาตรวจอาการแล้วบอกว่า ต้องเอาหลวงปู่เข้าห้องเอ็กซเรย์อีก เพราะมีความจำเป็นมาก แม้จะเห็นว่าหลวงปู่อ่อนเพลียมากก็ต้องทำ

            ตอนนั้นเวลา ๕ ทุ่มแล้ว หลวงปู่ท่านนอนสงบนิ่ง จนบางท่านคิดว่าท่านคงจะมรณภาพละทิ้งสังขารไปแล้ว ต้องใส่ท่ออ๊อกซิเจนช่วยหายใจนานนับ ๕ ชั่วโมง การทำงานของหมอจึงแล้วเสร็จ แต่การวินิจฉัยของหมอในคืนนั้นไม่ได้รับผลอะไรเลย

            เมื่อยกหลวงปู่ขึ้นนอนบนแท่นฉายในห้องเอ็กซเรย์แล้ว เจ้าหน้าที่ก็ลงมือฉาย ๒ ชั่วโมงกว่าก็ยังไม่เสร็จ สงสัยว่าเครื่องฉายเสียหรือฟิล์มหมดอายุเพราะปรากฎว่าฟิล์มที่ออกมาแต่ละแผ่นดำสนิทมองไม่เห็นอะไรเลย

            ท่านพระครูนันทปัญญาภรณ์ (พระโพธินันทมุนี) บันทึกไว้ว่า ใช้ฟิล์มเอ็กซเรย์หลายแผ่น หนาเกือบครึ่งคืบ ก็ไม่ได้ผลเลย ทั้งจอภาพก็ไม่ปรากฎภาพให้เห็นได้ตลอด มีเห็นบางไม่เห็นบาง ต้องฉายแล้วฉายอีกตั้งหลายครั้ง หลวงปู่คงต้องอดทนอย่างมาก เห็นท่านนอนหลับตานิ่งไม่ไหวติงเลย

            พยาบาลจะฉีดยา จะให้น้ำเกลือ ก็ทำไม่สะดวก บางครั้งก็แทงเข็มไม่เข้าบ้าง จนหมอบอกว่า ร่างกายของท่านไม่รับ ทางหมอเองก็ท้อใจและแปลกใจ

            คุณหมอสตรีท่านหนึ่งออกมาถามคณะศิษย์ว่า ทำไมถึงเป็นอย่างนี้ ต่างคนต่างก็ไม่ทราบ และไม่มีใครกล้าตอบ

            เมื่อมาคิดดู โดยลักษณะนี้อาจเป็นว่า หลวงปู่คงจะเข้าสมาธิส่วนลึกและละเอียดเพื่อระงับทุกขเวทนา เพราะเวลา ๑๔ ชั่วโมงที่ผ่านมา ท่านหลับตาอยู่อย่างนั้นโดยไม่ไหวติงเลยตลอดเวลาเข้าห้องฉุกเฉิน ตรวจร่างกาย ฉายเอ็กซเรย์ ตลอดจนเข้าห้องพัก แล้วกลับเข้าห้องเอ็กซเรย์อีก

            ตลอดเวลา ๑๔ ชั่วโมงนั้น ท่านอาจไม่ได้รับรู้การกระทำของพวกเราเลยแม้แต่น้อยก็เป็นได้

            เมื่อได้เห็นภาพหลวงปู่นอนสงบอยู่บนเตียงพยาบาล ได้รับการดูแลรักษาด้วยการแพทย์สมัยใหม่ มีการให้อ๊อกซิเจนช่วยหายใจ ให้น้ำเกลือ และให้อาหารทางสายยางเป็นที่เรียบร้อยพอวางใจได้แล้ว ความวิตกกังวล ความเคร่งเครียดกระวนกระวายที่มีอยู่ในหัวสมองของผู้เขียน (พระครูนันทปัญญาภรณ์) เป็นเวลานาน นับตั้งแต่ออกเดินทางจากจังหวัดสุรินทร์มา ก็ได้บรรเทาเบาบางลงและรู้สึกโล่งใจ เกิดความมั่นใจว่าหลวงปู่จะต้องหายได้ในครั้งนี้อย่างแน่นอน

            ครั้นเวลาตี ๓ ล่วงแล้ว หมอกลับไปหมดแล้ว หลวงปู่จึงลืมตาขึ้นพร้อมกับถามประโยคแรกว่า หมอตรวจเสร็จแล้วหรือ

            ได้กราบเรียนท่านว่า เสร็จแล้วครับ

            ท่านก็สั่งว่า ให้กลับเดี๋ยวนี้

            หมายถึงให้พากลับวัด ต้องค่อยพูดอธิบายให้ท่านทราบว่า ท่านยังกลับไม่ได้ ต้องอยู่พักรักษาที่โรงพยาบาลอีกหลายวัน พร้อมทั้งเลาเหตุการณ์ที่ผ่านมาให้ท่านทราบโดยตลอด ท่านก็ฟังเฉยโดยไม่ว่าอะไร

            ในวันนั้นคณะศิษย์ได้กราบเรียนท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระญาณสังวร (สมเด็จพระสังฆราชองค์ปัจจุบัน) ให้ทรงทราบ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ จึงเจริญพรไปยังสำนักพระราชวังต่อไป

๑๐๗. เหนือเอ็กซเรย์ 

            ตรงนี้ขอแทรกเรื่องเบาสมองสักเล็กน้อย ข้อเขียนต่อไปนี้เป็นบันทึกของคุณบำรุงศักดิ์ กองสุข ที่น่าสนใจไว้เป็นอุทาหรณ์ ดังนี้

            คุณจำนงค์ พันธุ์พงศ์ เล่าให้ผู้เขียนฟังถึงเมื่อครั้งถึงหลวงปู่ดูลย์ อตุโล อาพาธหนัก พระครูนันทปัญญาภรณ์ เป็นผู้นำหลวงปู่เข้ากรุงเทพฯ ให้แพทย์ตรวจอาการ ณ โรงพยาบาลจุฬาฯ

            เมื่อนำหลวงปู่เข้าห้องเอ็กซเรย์ พนักงานคนหนึ่งก็พูดกับคุณจำนงค์ว่า

            อ่อ! คนแก่ๆ แบบนี้ เอ็กซเรย์ง่ายสบายมาก

            คุณจำนงค์นึกในใจว่า ประเดี๋ยวก็รู้ เล่นพูดกับหลวงปู่แบบนี้!

            พอยกหลวงปู่ขึ้นเตียงเลื่อนไฟฟ้า เตียงไม่เลื่อนเข้าที่ เมื่อคุณจำนงค์ก้มกระซิบกราบขออนุญาตหลวงปู่ เตียงก็เลื่อนเข้าที่ได้

            เจ้าหน้าที่ถ่ายเอ็กซเรย์อยู่นานถึง ๒ ชั่วโมง ขณะถ่ายก็ไม่มีภาพปรากฏบนจอทีวี หมดฟิล์มไปเป็นจำนวนมาก พอล้างออกฟิล์มทุกใบดำไปหมด

            คุณหมอมากราบขออนุญาตกับหลวงปู่ คุณจำนงค์ปลุกหลวงปู่พอให้รู้สึกตัว แล้วกราบเรียนท่านว่า หลวงปู่ครับ อย่าเข้าสมาธิ เขาถ่ายเอ็กซเรย์ไม่ติด

            หลวงปู่ว่า อ้อ! อย่างนั้นรึ

            หลังจากนั้น จึงมีภาพปรากฏบนจอทีวี และฟิล์มเอ็กซเรย์ก็ได้ภาพตามต้องการ 

๑๐๘. ถูกตัวหลวงปู่ได้ไหม 

            รุ่งขึ้นวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๒๖ หลวงปู่มีอาการดีขึ้นพอที่จะประคองให้นั่งบ้าง นอนบ้าง หลวงปู่พูดเสียงชัดเจนดี

            เกิดเหตุขัดข้องทางผู้รักษาพยาบาลนิดหน่อยเพราะล้วนแต่เป็นสุภาพสตรีเมื่อจะทำหน้าที่มักจะถาม ท่านพระครูนันทปัญญาภรณ์ ซึ่งเฝ้าไข้อยู่ ณ ที่นั้นว่า

            หนูถูกตัวหลวงปู่ได้มั้ยค่ะ

            ท่านพระครูฯ ตอบ ไม่ได้ เจริญพร

            อ้าว! แล้วจะให้หนูทำอย่างไร

            ไม่ทราบ เจริญพร

            ท่านพระครูฯ บอกว่า อยากจะให้พวกเขาเข้าใจคำพูดของท่านเอาเองเขาก็ไม่เข้าใจ งงอยู่อย่างนั้นเอง ท่านจึงต้องอธิบายว่า

            คุณเป็นผู้หญิง หลวงปู่และอาตมาเป็นพระสงฆ์ เมื่อคุณถามว่าถูกต้องตัวหลวงปู่ได้ไหม จะให้อาตมาตอบว่าได้ อย่างนี้ไม่สมควร ผิดสมณวินัย ใครมีหน้าที่อย่างไร พึงทำไปตามหน้าที่ของตน

            พวกเขาเข้าใจ และทำตามหน้าที่ของตนด้วยความระมัดระวัง และอ่อนน้อมน่าชมเชย ต่อมาจึงขอให้มีบุรุษพยาบาลจากตึกสงฆ์มาทำหน้าที่แทนตลอดเวลาที่หลวงปู่อยู่ในโรงพยาบาล ปัญหาขัดข้องต่างๆ จึงหมดไปด้วยดี

๑๑๒. ผู้มาเยี่ยมนมัสการหลวงปู่

            สิ่งที่เคยนึกกังวลใจไว้ล่วงหน้าก็ค่อยๆ ปรากฏเป็นจริงขึ้น กล่าวคือ พอข่าวแพร่สะพัดออกไปว่าหลวงปู่อาพาธอยู่ที่โรงพยาบาลแห่งนี้ บรรดาสานุศิษย์และผู้ที่เคารพนับถือก็ได้ทะยอยกันมาเยี่ยมนมัสการมากขึ้นทุกที

            รวมทั้งผู้ที่เคยพบเคยกราบไหว้มาก่อน และผู้ที่เคยได้ยินแต่ชื่อเสียงแต่ไม่เคยเห็นตัวหลวงปู่ ก็ถือโอกาสนี้เป็นสำคัญที่จะได้มากราบมารู้จักท่าน

            ฝ่ายทางโรงพยาบาลก็แนะนำว่าขอให้ห้ามเยี่ยมห้ามรบกวน เพราะต้องการให้หลวงปู่ได้พักผ่อนอย่างเต็มที่

            ผู้เขียนยอมรับว่าไม่มีปัญญาที่จะปฏิบัติตามระเบียบของโรงพยาบาลอย่างเคร่งครัดได้ เพราะบังเอิญเป็นผู้ที่มีธาตุแห่งคนใจอ่อน เกรงใจเขา สงสารเขา เห็นใจเขา

            เขาอุตสาห์ข้ามบ้านข้ามเมืองมาไกล หิ้วข้าวของ ถือเครื่องสักการะมาด้วยความศรัทธาเลื่อมใส ต้องการที่จะกราบไหว้หลวงปู่ เพื่อเป็นบุญเป็นกุศล นี่ประการหนึ่ง

            อีกประการหนึ่ง เห็นว่า หลวงปู่อาพาธด้วยโรคที่ไม่ใช่ไข้ ยังมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ทุกประการ หากว่าหลวงปู่เป็นที่ตั้งแห่งบุญกุศล อันผู้ที่ได้กราบไหว้จะพึงได้บุญได้กุศล ก็สมควรจะอำนวยความสะดวก

            เพราะคิดอย่างนี้นี่เอง ชนทุกชั้นวรรณะที่ไปเยี่ยมนมัสการหลวงปู่จึงไม่มีผู้ใดผิดหวัง เมื่อไปถึงแล้ว ทุกคนย่อมมีโอกาสได้กราบไหว้หลวงปู่อย่างใกล้ชิดไม่มากก็น้อย ไม่เร็วก็ช้า บ้างก็ได้ถ่ายรูปร่วมกับหลวงปู่อีกด้วย

            ทั้งนี้มิใช่จะบุ่มบ่าม หรือขาดกาละเทศะจนเกินไป ทุกอย่างก็ได้พิจารณาแล้วว่าควรไม่ควรประการใดด้วย

            สมัยพุทธกาล เมื่อพระพุทธองค์ทรงประชวรหนักก่อนจะปรินิพพานท่านพระอานนท์ พุทธอุปัฏฐาก ได้ห้ามมาณพผู้หนึ่งซึ่งร้องขอเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าในขณะนั้น แม้มานพขอร้องถึง ๓ ครั้ง พระอานนท์ก็ไม่ยอมอย่างเด็ดขาด จนกระทั่งเสียงขอเสียงขัดดังถึงพระพุทธองค์

            พระองค์จึงตรัสว่า อานนท์ อย่าห้ามมานณนั้นเลย จงให้เข้ามาเถิด

            เมื่อได้เข้าเฝ้าและฟังพระธรรม มาณพก็บรรลุมรรคผล ขอบวชเป็นพระสาวกคนสุดท้าย มีนามว่า สุภัททะ

            เมื่อนำมาพิจารณาดูจะเห็นได้ว่า พระอานนท์ท่านทำตามหน้าที่ของท่านถูกต้องแล้ว ไม่มีความผิดพลาดอันใด

            ส่วนการที่พระพุทธเจ้าทรงให้มาณพเข้าเฝ้า ก็เป็นพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ที่ทรงมีต่อสรรพสัตว์ทั้งหลายไม่มีประมาณ

            บรรดาพระสาวกรุ่นหลัง ตลอดมาจนถึงพระเถรานุเถระ และครูบาอาจารย์ทั้งหลายที่มีเมตตาธรรมสูง ย่อมเป็นที่เคารพสักการะของหมู่ชนมากท่านอุทิศชีวิตเพื่อกิจพระศาสนา ไม่เคยคำนึงถึงความชรา ความอาพาธของท่านเมื่อเห็นว่าผู้ใดพึงจะได้ประโยชน์จากการสักการะท่านแล้ว ท่านก็อำนวยประโยชน์นั้นให้แก่เขา

            หลวงปู่ท่านมีเมตตาสูงอยู่แล้ว ไม่เคยบ่นหรือเอือมระอาในเรื่องเหล่านี้ต้อนรับญาติโยมได้โดยไม่เลือกชั้นวรรณะ

            ดังนั้น อาศัยที่ผู้เขียนเคยทำหน้าที่นี้มานาน จึงไม่ค่อยลำบากใจอะไรนักจะมีก็แต่ลำบากกาย เพราะบางวันต้องนั่งรับแขกตั้งแต่ ๖ โมงเช้า ตลอดจนถึง ๔ ทุ่มก็มี

            ต้องต้อนรับแขกแบบประชาสัมพันธ์ ทั้งอธิบายธรรม ทั้งตอบคำถาม เพราะผู้ที่ไปนมัสการหลวงปู่ ส่วนมากเป็นผู้สนใจในธรรมปฏิบัติ บางทีก็ขอร้องให้หลวงอธิบายข้อธรรมะ และแนะนำกัมมัฏฐานให้ก็มี

๑๑๕. กำหนดออกจากโรงพยาบาล

          ครั้นมีกำหนดการเป็นที่แน่นอนแล้ว ว่าจะเดินทางกลับใน วันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๒๖ จึงได้ชักชวนสาธุชนทั้งหลายจัดทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลแด่บรรพบุรุษและท่านผู้มีส่วนก่อสร้างโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ตลอดถึงทุกท่านที่ล่วงลับดับชีวิตในการรักษาพยาบาลที่นี่ และสรรพสัตว์ทั้งหลายไม่มีประมาณ

            การทำบุญได้จัดในตอนเช้าวันที่ ๒๐ มีนาคม มีการถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์จำนวน ๑๐ รูป มีผู้มาร่วมทำบุญกันอย่างล้นหลาม

            ผู้เขียนทั้งรู้สึกยินดี ทั้งเกรงใจเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลเป็นอย่างมากเพราะเป็นเหตุทำให้สถานที่นั้นพลุกพล่านด้วยผู้คนมากมาย แต่ได้รับความร่วมมือจากบรรดาเจ้าหน้าที่อย่างดียิ่ง

            อนึ่ง จตุปัจจัยที่ท่านผู้มีจิตศรัทธาถวายตลอดเวลาที่หลวงปู่อยู่ที่โรงพยาบาลนั้น ได้รวบรวมส่วนที่เหลือจากการใช้จ่าย แล้วนำไปบริจาคบำรุงโรงพยาบาลเป็นเงิน ๕๐,๐๐๐ บาท (ห้าหมื่นบาทถ้วน)

            ยังมีผู้มีเกรียติและสาธุชนทั้งหลายท่าน นอกจากจะได้ไปกราบนมัสการเป็นครั้งคราวแล้ว ยังได้สละกำลังกายกำลังทรัพย์และเวลา ไปอยู่เฝ้ารักษาพยาบาลหลวงปู่ด้วย ตลอดเวลาที่หลวงปู่พักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล

            ได้ช่วยถวายภัตตาหาร ตลอดจนสิ่งจำเป็นและอำนวยความสะดวกต่างๆรวมทั้งช่วยอุปัฏฐากรับใช้ทั้งหลวงปู่ทั้งพระสงฆ์ที่มาอยู่เฝ้าพยาบาล

            นับว่าท่านเหล่านั้นได้มีกุศลเจตนาอันสูงส่ง จนใจที่มิอาจระบุพระนามและนามของท่านทั้งหลายให้ปรากฏ ณ ที่นี้ได้ จึงขอจารึกไว้ในความทรงจำ

            บุญอันใดที่ท่านทั้งหลายได้มีกุศลจิตทำไปแล้วอย่างไร ขอผลแห่งบุญนั้นจงสำเร็จแห่งคุณงามความดีของท่านเถิด และขออนุโมทนาบุญกุศลโดยทั่วกัน

๑๑๖. เดินทางกลับวัด

           วันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๒๖ เวลา ๐๘.๑๘ น. หลวงปู่ก็ได้อำลาคณะแพทย์พยาบาล และเจ้าหน้าที่ผู่ถวายการรักษา แล้วออกจากโรงพยาบาล เพื่อเดินทางกลับไปยังวัดบูรพาราม อำเภอเมืองจังหวัดสุรินทร์

            คณะแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ ตลอดจนท่านผู้มีเกรียติ ศิษยานุศิษย์และท่านที่เคารพนับถือทั่วไป ได้พร้อมเพรียงกันมาส่งหลวงปู่ที่หน้าโรงพยาบาลกันอย่างล้นหลาม

            พณฯ ดร.เชาว์ ณ ศีลวันต์ องคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์มาส่งหลวงปู่และกราบเรียนหลวงปู่ว่า หลวงปู่ จะมีถ้อยคำอะไรถึงในหลวง กระผมจะนำไปกราบทูลถวายในหลวงให้ทรงทราบ

            หลวงปู่ตอบว่า ขอบคุณมาก

            ขบวนรถจากพระราชสำนัก รถโรงพยาบาล และรถส่วนตัวของลูกศิษย์ลูกหา และท่านที่เคารพศรัทธาในหลวงปู่ ได้ติดตามส่งเรียงรายเป็นแถวยาวเหยียดโดยมีรถตำรวจทางหลวงนำหน้า และปิดท้ายขบวนไปตลอดทาง

            บางท่านได้มาส่งถึงกับหลั่งน้ำตารำพันว่า ไม่อยากให้หลวงปู่หายเร็วๆเลย อยากให้อยู่โรงพยาบาลนานๆ จะได้มาทำบุญถวายทานเป็นประจำ

            ตลอดการเดินทางหลวงปู่อยู่ในอิริยาบทนอนสงบเงียบราวกับหลับสนิท พอมีใครกระซิบถามว่าหลวงปู่รู้ไหมว่าขณะนี้ถึงไหนแล้ว หลวงปู่ก็ตอบได้ถูกต้องว่าถึงที่นั่นๆ แล้ว โดยไม่ต้องลืมตาขึ้นดู

            ขบวนรถมาส่งหลวงปู่ เดินทางถึงวัดบูรพาราม เวลาประมาณ ๑๕.๐๐ น. ได้มีลูกศิษย์ลูกหาและญาติโยมพุทธบริษัทมารอรับหลวงปู่อย่างมากมาย

            เป็นอันว่าการที่ได้ตัดสินใจนำหลวงปู่เข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลในกรุงเทพฯ ครั้งนี้ ก็ประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าปลื้มใจจากทุกฝ่าย กล่าวคือ หลวงปู่ท่านหายจากอาพาธหนัก ยังมีอาการอยู่บ้างก็เป็นโรคของคนวัยชรา ซึ่งถือเปฌนเรื่องธรรมดาสำหรับบุคคลที่มีอายุวัยล่วงาถึง ๙๕ ปีเหมือนกลับหลวงปู่

            ในโอกาสนี้ คณะสงฆ์นำโดยพระเถรานุเถระ ตลอดจนญาติโยมพุทธบริษัทชาวจังหวัดสุรินทร์ ได้ร่วมกันทำบุญประกอบพิธีเจริญพระพุทธมนต์ถวายกุศลเพื่อแสดงกตเวทิตาคุณแก่หลวงปู่

            ตอนเข้าร่วมกันทำบุญตกบาตรถวายกุศลแด่หลวงปู่ เพื่อจะได้เจริญด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ เพื่ออยู่เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของลูกหลานไปอีกนานเท่านาน

            ทุกคนต่างรู้สึกปลื้มปีติที่หลวงปู่หายจากการอาพาธ และกลับมาอยู่ที่วัดบูรพาราม เพื่อเป็นศูนย์รวมแห่งความศรัทธาในทางพุทธศาสนาของเหล่าสานุศิษย์อีกต่อไป

๑๑๗. งดกิจนิมนต์นอกวัด

           ตลอดเวลาที่หลวงปู่พักฟื้นอยู่ที่วัดบูรพาราม เป็นเวลา ๘ เดือนกว่าแม่จะอยู่ในลักษณะโดยนิยมว่าหายจากอาพาธแล้ว แต่ท่านก็ยังมิได้หายโดยเด็ดขาดเลย

            ดังนั้น จึงต้องจัดให้มีการกำหนดว่า งดรับกิจนิมนต์นอกวัด และจำกัดเวลาในการต้อนรับแขกไว้อย่างเป็นระเบียบ

            แต่โดยเหตุที่อุปนิสัยของหลวงปู่นั้นต่างจากคนสูงอายุทั่วไป ที่ไม่ชอบนอนจับเจ่าอยู่กับที่ ถ้าแข็งแรงพอลุกขึ้นไปไหนมาไหนได้ ท่านก็จะออกเดินไปตามจุดต่างๆ ในบริเวณวัด หยุดยืนบ้าง นั่งบ้าง ตามที่ท่านเห็นว่าสมควรเป็นการพักผ่อนเปลื่ยนอิริยาบถไปในตัว ด้วยเหตุนี้จึงยากที่จะจำกัดเวลารับแขกให้แน่นอนชัดเจนลงไปได้ เพราะใครเห็นหลวงปู่ก็อยากจะเข้าไปกราบไปไหว้ด้วยกันทั้งนั้น สุดที่ใครจะห้ามใครได้ และหลวงปู่ก็มีใจเมตตาอยู่แล้ว

            การรักษาพยาบาลในระยะนี้ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ นอกจากถวายยาฉันตามที่โรงพยาบาลจัดไว้ให้ และรายงานอาการให้แพทย์ประจำทราบโดยสม่ำเสมอ

            ในส่วนตัวของหลวงปู่นั้นตามปกติไม่เคยทำความลำบากใจให้ใครอยู่แล้วท่านวางตนเป็นผู้สุขสบายทุกกรณี จึงทำให้ศิษยานุศิษย์และบุคคลทั่วไปเห็นว่าท่านมีสุขภาพอนามัยแข็งแรงดีเป็นปกติ

            โดยแท้จริงแล้ว ผู้เขียนในฐานะที่อุปัฏฐากใกล้ชิด เห็นว่าหลวงปู่ไม่ได้หายจากอาพาธโดยสิ้นเชิงเลย แต่ที่ท่านอยู่อย่างมีปกติสภาพนั้นก็ด้วยอำนาจแห่งขันติธรรมและด้วยบุญบารมีส่วนตัวของท่าน ตลอดจนด้วยคุณธรรมอันเกิดจากสมาธิภาวนาที่ท่านฝึกฝนอบรมมานานต่างหาก คุณธรรมเหล่านี้เองที่ช่วยให้ท่านดำรงขันธ์สืบต่อมาได้อีกถึงหนึ่งปีหลังจากออกจากโรงพยาบาลในครั้งนั้น

            จะมีใครตั้งข้อสังเกตบ้างไหมว่า ในช่วงระยะหลังนี้ หลวงปู่ใช้เวลาให้หมดไปด้วยการกล่าวธรรม ท่านจะเทศน์หรืออธิบายธรรมแก่ภิกษุสามเณรและท่านที่มากราบนมัสการท่าน

            ส่วนมากเป็นข้อธรรมที่เป็นข้อปฏิบัติภายใน ไม่เคยปรารภถึงงานก่อสร้างหรือการคณะสงฆ์อีกเลย

            บางครั้งก็เรียกศิษย์ฝ่ายกัมมัฏฐานมาสนทนาธรรมและชี้แจงข้อปฏิบัติซึ่งปู้เขียนเอง (พระครูนันทปัญญาภรณ์) ก็พยายามใช้เวลาอยู่กับหลวงปู่ให้มากที่สุด

๑๑๘. ข่าวมรณะภาพของหลวงปู่ขาว

          ในเดือนพฤษภาคม ๒๕๒๖ ได้ข่าวการมรณะภาพของหลวงปู่ขาว อนาลโย แห่งสำนักวัดถ้ำกลองเพล อำเภอหนองบัวลำภู จังหวัดอุดรธานี

            ลูกศิษย์จึงไปกราบเรียนให้หลวงปู่ทราบ ขณะนั้นเวลา ๑ ทุ่มเศษ ๆ หลวงปู่นั่งบนเก้าอี้เอนในห้องพัก ครั้นทราบข่าวหลวงปู่ขาวมรณะภาพแล้ว หลวงปู่ก็ปรารภว่า

            เออ! ท่านขาวก็หมดภาระการแบกสังขารไปเสียที

            แล้วท่านก็พูดต่อว่า

            พบกันเมื่อ ๓-๔ ปีที่ผ่านมา เห็นลำบากสังขาร เพราะต้องให้คนอื่นช่วยอยู่เสมอ เรื่องวิบากของสังขารนี้ แม้จะเป็นพระอริยเจ้าชั้นไหนก็ตาม ก็ต้องต่อสู้กับมันจนกว่าจะขาดจากกันได้ ไม่เกี่ยวข้องกันอีก

            ท่านพระครูนันทปัญญาภรณ์ถามว่า ผมเห็นหลวงปู่เมื่อเริ่มอาพาธใหม่ๆ มีอาการกระสับกระส่าย พลิกไปพลิกมา ผู้มีสมาธิแก่กล้าอย่างหลวงปู่จะพ้นภาระอย่างนี้ไปไม่ได้หรือครับ

            หลวงปู่ตอบว่า เมื่อให้จิตอยู่กับเวทนาไปแล้ว อาการเหล่านี้มักไม่ปรากฏ แต่ตามปกติสภาพของจิต มันก็ยังอยู่กับสิ่งเหล่านี้เอง แตกต่างจากจิตที่ฝึกดีแล้วเมื่อสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นย่อมละและระงับได้เร็ว ไม่กังวลไม่ยึดถือ หมดภาระเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านั้น มันก็แค่นั้นเอง

            ข้อที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งเกี่ยวกับสุขภาพของหลวงปู่ในระหว่างนี้คือเรื่องอาหารฉันก็ฉันได้ตามปกติ น้ำหนักตัวก็ทรงอยู่ไม่ขึ้นไม่ลง และที่น่าแปลกใจอีกประการหนึ่งก็คือ ราศีผิวพรรณของท่านสดใสเปล่งปลั่งกว่าปกติญาติโยมบางคนชอบมานั่งพิจารณาดูหลวงปู่เป็นเวลานานๆ ทุกคนชอบทำนายหลวงปู่ว่าท่านมีอายุเกินร้อยปีอย่างแน่นอน

            สิ่งที่ผิดสังเกตก็คือ เท้าทั้งสองของท่านบวมขึ้นเป็นบางครั้ง เมื่อปรึกษาหมอ หมอบอกว่าเกิดจากการให้ยาเกี่ยวกับปอด ประกอบกับหลวงปู่นั่งห้อยเท้าเป็นเวลานานๆ จึงทำให้เท้าท่านบวมเป็นครั้งคราว

            พอปรึกษาหลวงปู่ ท่านก็บอกว่า นี่เป็นสัญญาณอันตรายของคนมีอายุมากแล้ว ซึ่งผู้เขียนก็มิได้ใส่ใจมาก ด้วยคิดว่าท่านพูดปรารภธรรมตามธรรมดา

            จำได้ว่าหลวงปู่เคยพูดถึง ๒ ครั้งว่า เราไม่มีวิบากทางสังขาร แต่ไม่เคยนำมาคิดหาเหตุผลว่าท่านหมายถึงอะไร

๑๑๙. กำหนดงายฉลองอายุ ๘ รอบ

           หลวงปู่ยังคงดำรงอยู่ในปกติสภาพเช่นนี้มาจนถึงเดือนตุลาคม ๒๕๒๖ ซึ่งเป็นเดือนที่หลวงปู่ได้กำรงขันธ์มาถึง ๘ รอบ มีอายุ ๙๖ ปีบริบูรณ์ นับเป็นโอกาสที่หายากอย่างยิ่งที่จะมีคนอายุยืนยาวถึงขนาดนี้

            ทางคณะศิษย์จึงตกลงกันจะจัดงานฉลองให้แก่หลวงปู่เป็นกรณีพิเศษด้วยถือเป็น อภิลักขิตกาล ประกอบกับการที่หลวงปู่ได้หายจากการอาพาธ อันเป็นเรื่องที่นำความปลาบปลื้มยินดีมาสู่เหล่าสานุศิษย์และผู้มีจิตศรัทธา

            ทุกฝ่ายจึงพร้อมใจกันคิดที่จะจัดงานให้เป็นกรณีพิเศษกว่าทุกครั้งที่ผ่านมาโดยได้อาราธนาพระเถระทั้งฝ่ายคามวาสี และอรัญญวาสี ตลอดจนสานุศิษย์ทุกสารทิศได้มาร่วมงานถวายมุทิตาจิตแก่หลวงปู่ และที่สำคัญคือทางคณะศิษย์จะจัดให้มีพิธีพุทธาภิเษกเหรียญรุ่นพิเศษในโอกาสนี้ด้วย

            การเตรียมงาน และการประชาสัมพันธ์ดำเนินไปอย่างแข็งขัน สานุศิษย์และผู้ศรัทธาหลวงปู่ที่อยู่ในจังหวัดต่างๆ โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ได้มีหลายคณะหลายกลุ่มแสดงความจำนงมาทางวัด บางกลุ่มจะจัดงานบุญกุศลในครั้งนี้ด้วยกิจกรรมที่แตกต่างกัน จึงหวังได้ว่าจะเป็นงานฉลองอายุครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของหลวงปู่

            กำหนดงานจะเป็นวันที่ ๒๖-๓๑ ตุลาคม ๒๕๓๖ ต่างฝ่ายต่างก็ตั้งใจรองานนี้ด้วยโอกาสที่จะได้ร่วมงานบุญครั้งใหญ่ เหมือนเคยจัดมาเป็นประจำปีตั้งแต่ปี  พ.ศ.๒๕๒๐ เป็นต้นมา

            ทางในหลวงปู่ท่านรับทราบการจัดงานด้วยอาการสงบเฉยตามปกติท่ายไม่แสดงอาการคัดค้าน หรือสนับสนุนแต่อย่างใด เพราะเป็นเรื่องที่ลูกศิษย์ลูกหาประสงคจะจัดขึ้นด้วยเจตนาอันดี โดยปรารภเหตุครบรอบวันเกิดของหลวงปู่เป็นโอกาสร่วมชุมชนเพื่อทำบุญในครั้งนี้

๑๒๐. อาการผิดปกติเริ่มปรากฏ

          วันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๒๖ ก่อนงานเริ่มเพียงวันเดียว หลวงปู่เริ่มแสดงอาการผิดปกติมาตั้งแต่เวาลาประมาณ ๐๔.๐๐ น. คือท่านมีอาการอ่อนเพลียปวดเมื่อยตามร่างกาย แล้วก็กระสับกระส่าย ตัวร้อนคล้ายจะเป็นไข้ แต่ไม่ปวดศีรษะ

            อาการทุกอย่างคล้ายคลึงกับเมื่อก่อนเข้าโรงพยาบาลครั้งที่แล้วไม่มีผิดพระผู้เฝ้าพยาบาลได้ช่วยกันทาน้ำมัน แล้วถวายนวดไปตามที่ที่รู้สึกปวดเมื่อยอาการค่อยทุเลาลงบ้างเล็กน้อย

            ครั้นถึงเวลา ๐๗.๐๐ น. ตามปกติหลวงปู่จะออกมารับถวายภัตตาหารเช้าและต้อนรับแขก แต่วันนี้ท่านไม่ออกจากห้องพัก จึงได้นำภัตตาหารไปถวายท่านข้างในหลวงปู่สามารถลุกขึ้นมานั่งฉันบนเก้าอี้ได้ และฉันได้เกือบเหมือนปกติ

            หลังจากนั้นได้เชิญ คุณหมอมนูญ มาตรวจร่างกายท่าน คุณหมอรายงานว่าความดันขึ้นสูงหน่อย แต่หลวงปู่บอกว่าไม่ปวดศีรษะเลย แล้วท่านก็ฉันยาที่หมอให้ จากนั้นก็นอนหลับไปชั่วโมงกว่าๆ ร่างกายรู้สึกว่าดูเป็นปกติ แต่ยังอ่อนเพลีย

            พอถึงเวลาเพล ท่านก็ลุกขึ้นมานั่งฉันบนเก้าอี้แต่ไม่ยอมฉัน เมื่อลูกศิษย์คะยั้นคะยอท่านก็ฉันข้างต้มให้ ๔ ช้อน และของหวานอีกเล็กน้อย หลังจากนั้นท่านก็นอนพักผ่อน ดูผิวพรรณท่านผุดผ่องดี เว้นแต่อาการเปลี่ยนแปลงเร็วมากระหว่างกระปรี้กกระเปร่ากับอ่อนเพลีย จะเป็นไปทุก ๔๐ หรือ ๔๕ นาที

            ตลอดทั้งวันที่สานุศิษย์ฝ่ายกัมมัฏฐานมาอยู่เฝ้าท่านหลายรูป ท่านใช้เวลาส่วใหญ่ในการอธิบายธรรมให้ฟัง สติสัมปชัญญะของท่านยังสมบูรณ์ดีมากสามารถลำดับธรรมะเป็นกระแสที่ชัดเจน และตอบคำถามข้อปฏิบัติขั้นปรมัตถ์อย่างดี ด้วยน้ำเสียงชัดเจนแจ่มใส ทำให้คณะศิษย์อุ่นใจว่าหลวงปู่คงไม่เป็นอะไร

            ครั้นเวลา ๕ โมงเย็น ถวายน้ำสรงท่านตามปกติเสร็จแล้ว หลวงปู่ก็นั่งบนเก้าอี้ในห้อง ดูกิริยาท่าทางของท่านเป็นปกติดีเหมือนกับไม่ได้ไข้ไม่ได้เจ็บอะไรดูท่านสดใสดีมาก ต่อมาสักครู่ ท่านปรารภธรรมให้ฟัง

            ในทางโลกเขามีสิ่งที่มี แต่ในทางธรรมมีสิ่งที่ไม่มี

            เมื่อถามถึงความหมาย ท่านก็พูดว่า

            คนในโลกนี้ต้องมีสิ่งที่มี เพื่ออาศัยสิ่งนั้นเป็นอยู่ ส่วนผู้ปฏิบัติธรรมต้องปฏิบัติ จนถึงสิ่งที่ไม่มี และอยู่กับสิ่งที่ไม่มี

            เมื่อเห็นว่าหลวงปู่ท่านรู้สึกเพลีย จึงขอให้ท่านพักผ่อนอาการอ่อนเพลียเพิ่มมากขึ้น แต่ท่านก็นอนพูดธรรมให้ฟังต่อไปอีก

            ขณะนั้นฝนตกหนักมาก (โปรดดูในตอนที่ ๙๓ เรื่องวิบากเกี่ยวกับฝนตก)

            ผู้เขียนอยู่เฝ้าหลวงปู่ถึง ๕ ทุ่มกว่า สังเกตเห็ฯว่า หลวงปู่มักจะพูดธรรมะชั้นสูง เกี่ยวกับการปฏิบัติเรื่อง การเข้าฌาณออกฌาณ บางช่วงท่านก็อยู่เฉยๆ คล้ายกับเข้าสมาธิหรือพิจารณากัมมัฏฐานข้อใดข้อหนึ่ง พอท่านนิ่งไปสักพักหนึ่งแล้วก็ปรารภธรรมบทใดบทหนึ่งต่อทันที

            ท่านพระครูนันทปัญญาภรณ์ ถามว่า หลวงปู่เชื่อความศักดิ์สิทธ์ไหม

            หลวงปู่ตอบว่า ความศักดิ์สิทธิ์ไม่เคยมี มีแต่พลังและความสามารถของจิต

            มีตอนหนึ่ง ท่านพระครูฯ ได้เรียนถามแบบทีเล่นทีจริงว่า ตามตำราบอกว่าเทวดามาฟังธรรมะของพระพุทธเจ้าครั้งละหลายโกฏินั้น จะมีศาลาโรงธรรมที่ไหนให้ฟังได้หมด ทุกคนต่างรู้สึกงงงวยกันมาก เพราะไม่เคยได้ยินได้ฟังและไม่เคยพบในตำราที่ไหนมาก่อน เมื่อหลวงปู่ตอบว่า ในเนื้อที่หนึ่งปรมาณู เทวดาอยู่ได้ ๘ องค์

๑๒๑. นี่ไม่ใช่ครั้งก่อน!

            ย่างเข้า วันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๒๖ ซึ่งเป็นวันเริ่มงานพิธีฉลองอายุหลวงปู่เป็นวันแรก หลวงปู่มีอาการกระสับกระส่ายเล็กน้อย และปวดทางเท้าซ้ายขึ้นมาจนถึงบั้นเอว พร้อมทั้งมีอาการไข้ขึ้นเล็กน้อย ชีพจรมีอาการผิดปกติจนถึงเวลา ๖ โมงเช้า อาการเปลี่ยนไปมาแบบทรงๆ ทรุดๆ

            เมื่อเห็นอาการของหลวงปู่เป็นเช่นนี้ ท่านพระครูนันทปัญญาภรณ์จึงได้โทรศัพท์ทางไกลเข้ากรุงเทพฯ กราบเรียนอาการท่านเจ้าประคุณ สมเด็จพระญาณสังวร ให้ทรงทราบ

            ทางด้าน อาจารย์พวงทอง ได้โทรศัพย์ไปบอก คุณหมอชูฉัตร กำภู ที่ทางพระราชสำนักมอบหมายให้ดูแลหลวงปู่ แลพเป็นผู้นำหลวงปู่เดินทางกลับจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มาพักที่วัดเมื่อครั้งไปรับการรักษาเมื่อคราวก่อน

            คุณหมอชูฉัตร แนะนำให้รีบนำหลวงปู่เข้าไปรักษาอาการที่กรุงเทพฯ แต่ยังไม่เป็นที่ตกลงกันว่าจะเอาอย่างไรกันแน่

            ๐๖.๓๐ น. หลวงปู่ยังออกจากห้องได้ นั่งฉันภัตตาหารข้างนอกตามปกติ เสร็จแล้วนั่งพักประมาณ ๑๐ นาที แล้วเข้าไปพักผ่อนในห้อง

            ๐๗.๒๐ น. หมอมาตรวจอาการอีก วัดความดันดูยังอยู่ในระดับปกติ หมอได้ฉีดยานอนหลับถวายเพื่อให้หลวงปู่ได้พักผ่อนมากๆ

            ในการฉีดยาแต่ละครั้งหลวงปู่มักจะห้ามไว้ไม่ให้ฉีด แต่ส่วนใหญ่หมอจำเป็นต้องฝืนฉีดให้

            หมอได้ถวายน้ำเกลือเข้าเส้น แต่หลวงปู่ไม่ยอบรับ ท่านสั่งให้เอาสายออก ท่านบอกว่าขออยู่เฉยๆ ดีกว่า

            ขณะนั้นเห็นมาเป็นจังหวะดี ท่านพระครูนันทปัญญาภรณ์จึงได้กราบเรียนหลวงปู่ว่า จะนำหลวงปู่ไปรักษาที่โรงพยาบาลในกรุงเทพฯ อีก

            ท่านรีบตอบปฏิเสธ ไม่ต้องเอาไปหรอก

            และห้ามต่อไปว่า ห้ามไม่ให้พาไป

            ถามท่านว่า ทำไมหลวงปู่จึงไม่ไป

            หลวงปู่ว่า ถึงไปก็ไม่หาย

            ครั้งก่อนหลวงปู่หนักกว่านี้ยังหายได้ ครั้งนี้ไม่หนักเหมือนแต่ก่อนต้องหายแน่ๆ ท่านพระครูชี้แจง

            หลวงปู่ว่า นั้นมันครั้งก่อน นี่มันไม่ใช่ครั้งก่อน

            ท่านพระครูนันทฯ ยอบรับว่าครั้งนี้มีความลังเลใจอย่างยิ่ง ตรงกันข้ามกับครั้งก่อนที่สามารถตัดสินใจได้อย่างเด็ดขาด

๑๒๒. วันแรกของงาน

          ต่อมาท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ คือ นายเสนอ มูลศาสตร์ พร้อมด้วยข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของจังหวัด ๔-๕ คน ได้มากราบเยี่ยมอาการของหลวงปู่ จึงได้ปรึกษากันว่า ควรจะนำหลวงปู่เดินทางเข้าไปรักษาที่กรุงเทพฯ หรือไม่

            ทุกคนที่เห็นหลวงปู่มักจะเข้าใจว่าท่านไม่เป็นอะไรมาก เมื่อเห็นว่าท่านไม่อยากไปด้วยแล้ว ก็พากันวางเฉยตามท่านไปด้วย

            โดยปกติชีวิตของหลวงปู่ ท่านไม่เคยเรียกหาหมอยาเลย เท่าที่เคยเข้ารักษาในโรงพยาบาล ๒ ครั้ง ก็เมื่อท่านมีอาการหนักแล้ว คณะศิษย์จึงพาท่านไป ท่านไม่อยากขัดใจจึงต้องปล่อยตาม

            อาการป่วยไข้ที่จะแสดงให้คนอื่นกังวลหนักใจในการรักษาพยาบาลนั้นไม่มี เพราะท่านมีความอดทนเป็นเยี่ยม ตั้งแต่สมัยออกบำเพ็ญเพียรตามป่าเขาท่านเคยต่อสู้กับความเจ็บป่วยและความตายมาอย่างโชกโชน

            เท่าที่ผู้เขียนอยู่ใกล้ชิดกับหลวงปู่มาตลอด ไม่เคยได้ยินเสียงท่านครวญครางโอดโอย หรือถอนหายใจแม้แต่ครั้งเดียว เวลาท่านลุก นั่ง เปลื่ยนอิริยาบทต่างๆ เป็นไปด้วยความคล่องแคล่วกระฉับกระเฉงเสมอ

            วันนี้วันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๒๖ เป็นวันเริ่มทำบุญครบรอบอายุของท่านการจัดงานครั้งนี้ก็จัดกันเป็นพิเศษ ศิษยานุศิษย์ฝ่ายสงฆ์มากันอย่างพรั่งพร้อมพุทธศาสนิกชนทั่วไปทั้งในจังหวัดสุรินทร์และจังหวัดอื่นต่างหลั่งไหลกันมาอย่างมากมาย มีสุภาพสตรีมาร่วมบวชชีปฏิบัติธรรมจำนวนมากกว่าหนึ่งพันคน

            ทางฝ่ายท่านพระครูนันท์ฯ ท่านคิดว่า รออยู่ให้เสร็จงานเสียก่อน หากอาการของหลวงปู่ยังไม่ดีขึ้น จะต้องพาท่านเข้าไปรักษาในกรุงเทพฯ อย่างแน่นอนได้ปรึกษาและตกลงกับท่านผู้ว่าราชการจังหวัดว่าอย่างนั้น ท่านผู้ว่าฯ จึงได้แต่งตั้งนายแพทย์ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสุรินทร์ พร้อมทั้งนายแพทย์อีก ๒ ท่านเป็นกรรมการถวายการรักษาพยาบาลหลวงปู่

            เมื่อถึงเวลาตามหมายกำหนดการ ประชาชนต่างหลั่งไหลกันมาเป็นจำนวนมาก

            เวลา ๑๐.๐๐ น. พระสงฆ์ ๑๐ รูป เจริญพระพุทธมนต์

            เวลา ๑๑.๐๐ น. ถวายภัตตาหารเพล

            เวลา ๑๓.๐๐ น. ท่านนเจ้าคุณพระพุทธพจน์วราภรณ์ วัดราชบพิธ แสดงพระธรรมเทศนาเรื่อง ปูชนียบุคคลประยุกต์กับคุณธรรมความดีของหลวงปู่

๑๒๓. เรารออย่างนี้อยู่แล้ว

          ขณะที่การแสดงพระธรรมเทศนากำลังดำเนินอยู่ ก็มีพระมากระซิบบอกท่านพระครูนันทปัญญาภรณ์ว่า หลวงปู่เรียกให้ไปปพบ

            ท่านพระครูฯ รู้สึกตกใจเล็กน้อย รีบไปหาหลวงปู่ พอไปถึงเห็นท่านนอนหงายหนุนหมอนสูงอยู่ ดูอาการท่านยังสดใสเป็นปกติ

            เมื่อเข้าไปใกล้ หลวงปู่ก็ถามถึงการจัดงานว่าเป็นอย่างไร ฟังเสียงท่านคล้ายกับปากคอแห้งไม่มีน้ำลาย

            ท่านพระครูฯ รายงานท่านให้ทราบว่า งานทุกอย่างเป็นไปด้วยความเรียบร้อยตามที่กำหนดไว้ ปีนี้ผู้มาบวชเป็นแม่ชีพราหมณ์มากกว่าทุกครั้ง จนศาลาใหม่เต็มหมดทั้งชั้นบนและชั้นล่าง

            หลวงปู่จึงถามถึงศิษย์ฝ่ายสงฆ์ ว่าครบหมดทุกองค์แล้วยัง ท่านพระครูฯ กราบเรียนว่ามาแล้ว แต่กำลังอยู่ในพิธีแสดงพระธรรมเทศนาอยู่บนศาลาเมื่อจบพิธีแสดงธรรมแล้ว ทุกองค์จะเข้ามานมัสการถวายสักการะหลวงปู่ในที่นี้

            หลวงปู่พูดว่า เออ! เรารออย่างนี้อยู่แล้ว

            ต่อจากนั้นหลวงปู่พูดอะไรก็ไม่ทราบ เพราะท่านพูดเบามาก ท่านพระครูนันทปัญญาภรณ์เอียงหูไปฟังชิดกับท่านมาก ท่านจับแขนไว้แล้วนิ่งเฉย ท่านพระครูฯ สะดุ้งตกใจนึกว่าหลวงปู่สิ้นลมแล้ว

            เมื่อพิจารณาดูโดยละเอียดเห็นว่าหลวงปู่หายใจเป็นปกติ แต่แผ่วเบามากเห็นท่านอยู่ในอาการสงบนิ่ง จึงแน่ใจว่าท่านไม่เป็นไร ได้ผละห่างจากท่านเล็กน้อยหลวงปู่นิ่งเฉยอยู่ค่อนข้างนาน เข้าใจว่าท่านคงเข้าสมาธิอยู่

            เมื่อหลวงปู่ลืมตาขึ้นมา เห็นว่าท่านมีอาการผ่องใสสดชื่นเป็นพิเศษท่านพระครูฯ จึงปรารภเรื่องงานให้หลวงปู่ฟัง เพื่อท่านจะได้ไม่ต้องเป็นกังวล

            ต่อมาได้เรียนถามท่านว่า หลวงปู่หลับหรือเข้าสมาธิขอรับ

            หลวงปู่ตอบว่า พิจารณาลำดับฌาณอยู่

            พอดีจังหวะนั้นมีศิษย์อาวุโสหลายองค์เข้ามานมัสการหลวงปู่ บางองค์สงสัยในข้อปฏิบัติก็ได้กราบเรียนถามท่าน ท่านอธิบายลำดับข้อปฏิบัติธรรมให้ฟังตลอดสายอย่างชัดเจนไม่ติดขัด

            เมื่อเห็ฯเหตุการณ์เป็นดังนี้ ท่านพระครูฯ ค่อยรู้สึกเบาใจ จึงผละจากหลวงู่ออกไปที่งานบนศาลา ซึ่งมีญาติโยมสนใจมาบำเพ็ญกุศลบวชเป็นชีอย่างมากมาย

๑๒๔. สวดมนต์ให้ฟัง

           ครั้น ๔ โมงเย็นล่วงแล้ว หลวงปู่สามารถออกมานั่งรับแขกข้างนอกได้ญาติโยมจำนวนมาก ได้ถือโอกาสรีบมากราบหลวงปู่

            สักครู่ใหญ่ต่อมาหลวงปู่ก็กลับเข้าห้อง พระเณรถวายน้ำสรงแก่ท่านเช็ดตัวและนุ่งห่มเรียบร้อย ก็ถวายน้ำผึ้งผสมมะนาว และสมอตำละเอียด ท่านฉันน้ำผึ้งอย่างเดียว ไม่ฉันสมอ

            แล้วหลวงปู่นอนพัก่อนท่ามกลางสงฆ์ฝ่ายอรัญญวาสี ซึ่งนั่งห้อมล้อมเป็นจำนวนมาก อยู่ในอิริยาบทนอนหงาย หนุนหมอนสูง หลับตาลง ดูสีผิวของท่านเปล่งปลั่งผิดธรรมดา

            ท่านพระครูนันทปัญญาภรณ์บอกว่าช่วงนั้นทำให้ท่านคิดสังหรณ์ใจไปต่างๆ นานา แทนที่จะรู้สึกสบายใจเหมือนกับคนอื่น ๆ พระลูกศิษย์ทุกรูปที่นั่งอยู่ ณ ที่นั้น เห็นหลวงปู่นอนนิ่งเฉยอยู่ ก็พากันเงียบกริบไม่มีการพูดจากันแต่อย่างใด

            หนึ่งทุ่มผ่านไป หลวงปู่ลืมตาขึ้นมองไปตรงช่องว่างที่เป็นกระจกที่มีผ้าม่านปิดอยู่ ท่านยกแขนขวาขึ้นบอกท่าทางให้รูดม่านออก สักครู่ต่อมาท่านบอกให้พระเณรออกจากห้องไปได้ ยังเหลือพระคอยดูแลรับใช้ ๘-๙ องค์

            หลังจากนั้นสักพักท่านก็สั่งให้พระที่อยู่สวดมนต์ให้ท่านฟัง ดูสีหน้าของพระเหล่านั้นเริ่มฉงนสนเท่ห์ใจ พร้อมใจกัน สวดมนต์เจ็ดตำนาน ให้หลวงปู่ฟังจนจบ

            แล้วหลวงปู่บอกให้สวดเฉพาะ โพชฌงคสูตร อย่างเดียว ๓ จบ

            แล้วให้สวด ปฏิจจสมุปบาท อีก ๓ รอบ

            พอสวดจบหมอก็เข้าไปตรวจอาการ ตอนนั้นเป็นเวลา ๔ ทุ่มล่วงแล้วหมอและพยาบาลคงรู้สึกถึงบรรยากาศของการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง ทุกคนต่างอยู่ในอาการสงบนิ่ง ไม่มีใครพูดอะไร

            ทุกคนที่อยู่ในที่นั้น ต่างประจักษ์ชัดด้วยกันว่าอะไรจะเกิดขึ้น หมอก็กราบลาหลวงปู่กลับออกไป เชื่อว่าทุกคนคงจะรู้ว่าเป็นการกราบลาหลวงปู่เป็นครั้งสุดท้าย บรรยากาศ ณ ที่นั้น อยู่ในความสงบนิ่ง ไม่มีใครปริปากพูดอะไร

๑๒๕. สวดมหาสติปัฏฐานสูตร

           หลังจากหมอกลับออกไปแล้ว หลวงปู่ลืมตาขึ้น บอกให้พระสวด มหาสติปัฏฐานสูตร ให้ฟัง ปรากฏว่าพระที่อยู่ ณ ที่นั้น ๘-๙ องค์ ไม่มีใครสวดได้เพราะเป็นพระสูตรที่ยาวกว่าสูตรอื่นๆ ทั้งหมด

            หลวงปู่บอกให้เปิดหนังสือสวด เผอิญหนังสือก็ไม่มีอีก

            พอดีพระอาจารณ์พูนศักดิ์ ซึ่งเฝ้ารักษาหลวงปู่มาโดยตลอด มีหนังสือสวดมนต์ฉบับหลวงเล่มใหญ่ติดมาด้วย จึงหยิบมาเปิดค้นหาพระสูตรนั้น กำลังพลิกไปพลิกมาเปิดหาอยู่

            หลวงปู่สั่งว่า เอามานี่

            พระอาจารณ์พูนศักดิ์รีบยื่นถวาย หลวงปู่รับไป แล้วเปิดหนังสือขึ้นโดยไม่ต้องดู บอก ว่า สวดตรงนี้

            ทุกองค์ที่อยู่ในที่นั้นต่างตะลึง เพราะหน้าที่หลวงปู่เปิดเป็นหน้าที่ ๑๗๒ เป็นบทสวด มหาสติปัฏฐานสูตร พอดี

            พระอาจารณ์พูนศักดิ์รับหนังสือจากหลวงปู่มานั่งสวดองค์เดียว หลวงปู่นอนฟังโดยตะแคงข้างขวา อยู่ในอาการสงบนิ่ง

            พระสูตรนี้มีความยาวถึง ๔๑ หน้า ใช้เวลาสวดเกือบ ๒ ชั่วโมง เพราะ หลวงปู่บอกให้สวดแบบช้าๆ

            ระหว่างนั้นพระบางองค์ทะยอยออกไปบ้าง

            หลังจากที่สวด มหาสติปัฏฐานสูตร จบลง หลวงปู่ยังอยู่ในอาการปกติ ท่านพูดธรรมะกับพระที่เฝ้าอยู่เป็นครั้งคราว ลุกขึ้นนั่งบนเก้าอี้บ้าง นอนบ้าง

            มีตอนหนึ่งหลวงปู่ให้พาออกไปนอกห้อง และออกไปนอกกุฏิเพื่อสูดอากาศบริสุทธิ์ภายนอก หลวงปู่เพ่งมองไปที่ศาลาที่อยู่ตรงหน้ากุฏิของท่าน ซึ่งในขณะนั้น ทั้งพระเณรและฆราวาสเป็นจำนวนมากต่างชุมนุมปฏิบัติธรรมกันอยู่มีการสวดมนต์ ฟังเทศน์ ปฏิบัติสมาธิภาวนากันอยู่

            อากัปกิริยาที่หลวงปู่ออกมานอกกุฏินี้ ท่านได้กวาดสายตามองดูไปรอบ ๆ บริเวณวัด ไม่มีใครทราบว่าเป็นการมองดูครั้งสุดท้าย คล้ายกับเป็นการให้ศีลให้พร และเป็นการลาสถานที่และสานุศิษย์ของท่านทุกคน

            ไม่มีใครเฉลียวใจ เพราะเห็นว่าท่านยังมีอาการเป็นธรรมดา มีสติสัมปชัญญะบริบูรณ์และพูดธรรมปฏิบัติให้พระเณรฟังได้อย่างชัดเจน

๑๒๖. แสดงธรรมครั้งสุดท้าย

          ผ่านเข้ามาถึงตี ๓ ของวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๒๖ หลวงปู่ได้แสดงธรรมให้แก่ลูกศิษย์ลูกหาที่อยู่ในห้องนั้นได้รับฟัง

            ธรรมที่หลวงปู่แสดงเป็นธรรมว่าด้วย ลักษณาการแห่งพุทธปรินิพพาน ท่านแสดงด้วยน้ำสียงปรกติธรรมดา และอยู่ในอิริยาบถนอนหงาย มีเนื้อหาดังนี้

            เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสร้างพระพุทธศาสนา ให้ก่อเกิดเป็นชีวิตอย่างบริบูรณ์ดังประสงค์แล้ว พระองค์จึงได้ละ วิภวตัณหา นั้น เสด็จเข้าสู่ อนุปาทิเสสนิพพาน คือ เป็นผู้หมดสิ้นทุกตัณหา เป็นผู้ดับรอบโดยลักษณาการแห่งอนุปาทิเสสนิพพานของพระองค์

            ลำดับแรกก็เจริญฌาณ ดิ่งสนิทไปจน สัญญาเวทยิตนิโรธ หมายความว่า เข้าไปลึกสุดอยู่เหนือรูปฌาณ

            ในวาระแรกนั้น พระองค์ยังมิได้ดับขันธ์ต่างๆ ให้สิ้นสนิทเด็ดขาดแต่อย่างใด เพียงเข้าไปเพื่อทรงกระบวนการแห่งการเข้าสู่นิพพาน หรือนิโรธ เป็นครั้งสุดท้ายแห่งชีวิต

            พูดง่ายๆ ก็คือ สู่สิ่งที่พระองค์ได้สร้างได้พากเพียรก่อเป็นทางเป็นแบบอย่างไว้เป็นครั้งสุดท้ายเสียหน่อย ซึ่งเรียกได้ว่า สิ่งอันเกิดจากการที่พระองค์ได้ยอมอยู่กับ ธุลีทุกข์ อันเป็นธุลีทุกข์ที่มนุษย์ธรรมดามีจิตหยาบเกินกว่าที่จะสัมผัสได้ว่ามันเป็นทุกข์

            นี่แหละกระบวนการกระทำจิตตนให้ถึง สัญญาเวทยิตนิโรธ เป็นกระบวนการที่พระอนุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นยอดศาสดาในโลกเท่านั้นที่ทรงค้นพบ ทรงนำมาตีเผยแผ่แจ้งออกสู่โลกให้พึงปฏิบัติตาม

            เมื่อทรงสิ่งสุดท้ายนี้แล้ว จึงได้ถอยกลับมาสู่สภาวะต้น คือ ปฐมฌาณ แล้วตัดสินพระทัยครั้งสุดท้ายเสด็จดับขันธ์ต่างๆ ไปทีละขันธ์

            วิญญาณขันธ์แห่งชีวิตและร่างกายนั้นได้ดับไปเสียตั้งแต่ก่อนจะเข้าสู่ปฐมฌาณนานแล้ว เพราะต้องการดบสังขารขันธ์ หรือสังขารธรรมขั้นแรกก่อนวิญญาณขันธ์จึงได้ดับ

            ดังนั้น จึงไม่มีเชื้อใดเหลืออยู่แห่งวิญญาณขันธ์ที่หยาบนั้น

            พระองค์เริ่มดับสังขารขันธ์ หรือสังขารธรรมชั้นในสุด อันจะส่งผลให้ก่อวิภวตัณหาได้ชั้นหนึ่งเสียก่อน แล้วจึงเลื่อนเข้าสู่ ทุติยฌาณ แล้วจึงดับสัญญาขันธ์เลื่อนเข้าสู่ ตติยฌาณ

            เมื่อพระองค์ทรงดับสังขารขันธ์ หรือสังขารธรรมชั้นในสุดอีกที ก็เป็นอันเลื่อนขึ้นสู่ จตุตถฌาณ คงมีแต่เวทนาขันธ์สุดท้ายแห่งชีวิต นั่นแลคือลักษณาการแห่งขั้นสุดท้ายของการดับสิ้นไม่เหลือ

            เมื่อพระองค์ดับสังขาขันธ์ร หรือสังขารธรรมใหญ่สุดท้ายที่มีทั้งสิ้นแล้วก็มาดับ เวทนาขันธ์ เป็น จิตขันธ์ หรือนามขันธ์ที่ในจิตส่วนในคือ ภวังคจิตเสียก่อน แล้วจึงได้ออกจาก จตุตถฌาณ พร้อมทั้งมาดับจิตขันธ์หรือนามขันธ์สุดท้ายจริงๆ ที่ตรงนี้

            พระองค์ไม่ได้เข้าสู่พระนิพพานในโณสมาบัติอะไรที่ไหนหรอก เมื่อพระองค์ออกจากจตุตถฌาณแล้ว จิตขันธ์หรือนามขันธ์ก็ดับพร้อมไม่มีอะไรเหลือ ไม่ถูกภาวะอื่นใดมาครอบงำอำพรางให้หลงใหลใดๆ ทั้งสิ้น เป็น ภาวะแห่งตนเองอย่างบริบูรณ์ ภาวะอันนั้นจะเรียกว่า มหาสุญญตา หรือ จักรวาฬเดิม หรือว่าเรียก พระนิพพาน อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ เราปฏิบัติมาก็เพื่อถึงภาวะอันนี้

            วจีสังขารหรือวาจาของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล สิ้นสุดลงเพียงแค่นี้ หลังจากนั้น ไม่มีวาจาใดออกมาจากท่านอีกเลย

๑๒๗. หลวงปู่ละทิ้งสังขาร

           เวลาผ่านเลยถึงตี ๓ ของวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๒๖

            หลวงปู่นอนสงบนิ่ง หายใจเบาๆ ดูอาการเป็นปกติคล้ายนอนหลับตามธรรมดา สังเกตเห็นลมหายใจท่านเบาลงมาก ทุกคนปล่อยให้ท่านอยู่ของท่านไม่มีการรบกวน รู้สึกจะเห็นตรงกันว่า ถ้าหากหลวงปู่จะปล่อยวางสังขาร ก็ให้ท่านปล่อยว่างตามสบาย ไม่ควรทำให้ท่านต้องลำบากจากการช่วยเหลือของแพทย์หรือพยาบาล

            หลวงปู่อยู่ในอาการสงบนิ่ง ไม่มีใครแน่ใจว่าท่านปล่อยวางสังขารในช่วงวินาทีใด

            ผู้เฝ้าพยาบาลอยู่ด้านซ้ายเชื่อว่าหลวงปู่หยุดการหายใจเมื่อเวลา ๐๔.๑๓ น. สำหรับผู้ที่เฝ้าอยู่ทางด้านขวา เข้าใจว่าเมื่อเวลา ๐๔.๔๓ น. (ทางวัดตกลงถือเวลา ๐๔.๑๓ น.)

            ความรู้สึกของศิษย์ทั้งสองฝ่าย ต่างกันถึง ๓๐ นาที ไม่มีใครทันสังเกตเห็นได้ เพราะหลวงปู่มิได้หายใจแรงให้เรารู้ได้ว่าเฮือกใดเป็นลมหายใจเฮือกสุดท้ายของท่าน

            นับเป็นลักษณะการมรณะภาพที่ไม่ปรากฏร่องรอย เป็นความงดงามบริสุทธิ์ และสงบย็นอย่างสิ้นเชิง

            สังขารธรรมที่อุบัติขึ้นเมื่อวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๔๓๑ ณ บ้านปราสาทตำบลเฉนียง อำเภอเมืองจังหวัดสุรินทร์ ได้พัฒนามาโดยลำดับ รุ่งเรือง สดใส มั่นคงและบริสุทธิ์ ปราศจากละอองธุลีอย่างแท้จริง ได้ท่องเที่ยวไปมาทั่วแดนแห่งพุทธจักรจนรู้แจ้งเห็นธรรม อย่าง ไม่มีผู้ใดเทียบ ตรงตามฉายา อตุโล ของท่านบำเพ็ญประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นอย่างมหาศาล เผยแพร่ดวงประทีบแก่ชาวโลกเป็นเวลานาน ก็ดับลงแล้ว ด้วยการยกชีวิตสังขารของท่าน สอนคนให้รู้ถึงความเป็นจริงแห่งชีวิต ซึ่งท่านชอบใช้คำว่า ยังงั้น ยังงั้นแหละ

            หลวงปู่ดูลย์ อตุโล ละทิ้งสังขาร มรณภาพเมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๒๖ เวลา ๐๔.๑๓ น. รวมอายุได้ ๙๖ ปี กับ ๒๖ วัน พรรษา ๗๔

            สาธุ! ศิษย์ทุกคนกราบแทบเท้าขอขมากรรมหลวงปู่ ธรรมะใดที่หลวงปู่เข้าถึงแล้ว ขอให้ศิษย์ทุกคนได้เข้าถึงธรรมะนั้น และได้ดวงตาเห็นธรรมด้วยเถิด

๑๒๘. ไม่มีวิบากของสังขาร

           บรรดาศิษย์เพิ่งทราบความหมายที่หลวงปู่เคยพูดเสมอว่า ท่านไม่มีวิบากของสังขาร ซึ่งหมายถึง เมื่อคราวจะต้องละสังขารจริงๆ แล้วท่านก็ละไปเลย โดยไม่ต้องทิ้งความอ่อนแอ ความเจ็บไข้ได้ป่วยให้ปรากฏ เป็นการทรมานทั้งแก่ตนเอง และสร้างความลำบากยุ่งยากให้แก่ผู้อื่น อันเนื่องมาจากสังขารเป็นเหตุ

            รวมไปถึงการที่ต้องเปลืองหมอเปลืองยา ทำให้ได้รับความลำบากกายลำบากใจ สร้างความวิตกกังวล และความเป็นห่วงให้แก่บุคคลที่อยู่ภายหลัง

            เมื่อหลวงปู่ดำรงขันธ์จนย่างเข้าปัจฉิมวัยจะเข้าสู่ร้อยปีก็ตาม สุขภาพพลานามัยของท่านยังอยู่ในเกณฑ์แข็งแรง ทั้งสังขารร่างกาย ทั้งสติสัมปชัญญะสัมพันธ์กันอย่างสมบูรณ์

            เมื่อคราวที่จะต้องละทิ้งสังขารไปจริงๆ ความไม่มีวิบากของสังขารของท่านจึงปรากฏออกมาให้ทุกคนได้ประจักษ์อย่างชัดเจน คือ ท่านปล่อยวางสังขารในท่ามกลางความมีสติสัมปชัญญะที่สมบูรณ์ ด้านสุขภาพร่างกายก็แข็งแรงสมบูรณ์ตามสภาพของวัย ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่หายากอย่างยิ่ง สำหรับคนทั่วไป

            ที่น่าคิดประการหนึ่งคือ เสมือนหนึ่งว่าหลวงปู่กำหนดวาระการปล่อยวางสังขารในระหว่างที่มีการเตรียมงานพร้อมมูลอยู่แล้ว คือ งานที่สานุศิษย์จัดขึ้นเป็นพิเศษเพื่อเป็นการฉลองการหายอาพาธและทำบุญฉลองครบรอบถวายท่าน ในระหว่างวันที่ ๒๙-๓๐-๓๑ ตุลาคม ๒๕๒๖

            สานุศิษย์ฝ่ายบรรพชิตทั้งฝ่ายคามวาสี และอรัญวาสี มาประชุมกันพร้อมเพรียง เพื่อเปิดโอกาสให้มีการสนทนาวิสาสะ รับสัการะบูชา ตลอดถึงตอบปัญหาข้อวัตรปฏิบัติให้แก่สานุศิษย์ของท่านได้ฟังอย่างครบถ้วนบริบูรณ์เหมือนหนึ่งเป็นการทบทวนข้อวัตรปฏิบัติ อันเป็นคุณสมบัติที่ท่านรักษามาตลอดอายุขัยให้สมบูรณ์ เป็นที่อบอุ่นใจ สบายใจของทุกฝ่าย

            ลักษณาการแห่งการสิ้นสุดสังขารขันธ์ของหลวงปู่ครั้งนี้ ยังความอัศจรรย์ใจ ระคนกับความเศร้าโศกอาลัยอาวรณ์ ในบรรยากาศของการทำบุญครบรอบของท่าน เท่ากับว่าศาสนิกชนทั่วไปมาในงานเดียวได้สองงาน

            ได้มาร่วมงานศิริมงคลอายุครบรอบ พร้อมกับได้มารับรู้การละสังขารของท่านในช่วงเวลาเดียวกัน นับเป็นเหตุการณ์ที่น่าอัศจรรย์และเกิดขึ้นได้ยากยิ่ง

๑๒๙. การบำเพ็ญพระราชกุศลงานศพหลวงปู่

           ชั่วเพียงไม่กี่นาที ข่าวมรณภาพของ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล ก็แพร่สะพัดไปทั่วทั้งจังหวัดสุรินทร์และทั่วประเทศ สาธุชนและสานุศิษย์จากทุกสารทิศหลั่งไหลมานมัสการและสรงน้ำสรีระของหลวงปู่จำนวนมากเหลือคณานับ ตลอดวันที่ ๓๐ และ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๒๖ มีประชาชนเบียดเสียดกันมาอย่างคลาคล่ำ เพื่อถวายน้ำสรงสรีระหลวงปู่ ทุกคนที่ศรัทธาในหลวงปู่เมื่อรู้ข่าวก็เร่งรีบมา โดยที่ไม่ต้องมีการประกาศเชิญชวน

            ทราบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น เนื่องจากหลวงปู่เป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนา ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าบรมราชินีนาถทรงเคารพนับถือ ทรงให้การสงเคราะห์หลวงปู่มาตลอดทั้งยามปกติและยามอาพาธ

            ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานห้องพิเศษ และพระราชทานหมอหลวง เพื่อทำการรักษาพยาบาลหลวงปู่เมื่อคราวหลวงปู่อาพาธที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และทรงเสด็จเป็นการส่วนพระองค์เพื่อเยี่ยมอาพาธ

            ครั้นเมื่อหลวงปู่มรณภาพลงพระองค์ท่านได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานน้ำสรงศพ พร้อมทั้งพระราชทานโกศโถฉัตรเบญจาตั้งประดับ และ ทรงพระมหากรุณาโปรดบำเพ็ญพระราชกุศล ดังนี้

-                   ทรงพระมหากรุณาโปรดบำเพ็ญพระราชกุศล ๗ วัน ในวันที่ ๕-๖ พฤศจิกายน ๒๕๒๖

-                   ทรงพระมหากรุณาโปรดบำเพ็ญพระราชกุศล ๕๐ วัน ในวันที่ ๒๘-๒๙ ธันวาคม ๒๕๒๖

-                   ทรงพระมหากรุณาโปรดบำเพ็ญพระราชกุศล ๑๐๐ วัน ในวันที่ ๖-๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๗

นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ที่พระองค์ท่านได้ทรงเมตตาต่อหลวงปู่และพสกนิกรชาวสุรินทร์ ตลอดจนสานุศิษย์และสาธุชนผู้เคารพศรัทธาในหลวงปู่

เพื่อนนักสะสมและลูกศิษย์หลวงปู่ เมื่อได้อ่านประวัติ-ปฏิปทาของหลวงปู่ในช่วงสุดท้ายตั้งแต่ต้นปีพศ.2526 เริ่มวันที่๒๗ มกราคม ถึง ๓๐ ตุลาคม ๒๕๒๖ที่ท่านละสังขาร ตลอดปีพศ.2526 ท่านเจ็บป่วยย่อมไม่อนุญาตให้รบกวนเป็นเรื่องปกติ นั่นคือคำตอบสุดท้าย

( วัตถุมงคลปี.2526 ) ลป.ดุลย์ อตุโล ช่วงอาพาธหนักครั้งที่สอง ในปีพศ.๒๕๒๖ เข้าพักรักษาตัวที่รพ.จุฬา
( วัตถุมงคลปี.2526 ) ลป.ดุลย์ อตุโล ช่วงอาพาธหนักครั้งที่สอง ในปีพศ.๒๕๒๖ เข้าพักรักษาตัวที่รพ.จุฬา
Top